Tuesday, 13 May 2025
ชวน หลีกภัย

“ชวน” ไฟเขียว พร้อมบรรจุร่างกม.ลูกเข้าวาระประชุมสภาฯ รอ รบ.เสนอ คาดภายในเดือน ธ.ค. หวัง ไม่ยุบสภาก่อนพิจารณาเสร็จ “ชวน” ไฟเขียว พร้อมบรรจุร่างกม.ลูกเข้าวาระประชุมสภาฯ รอ รบ.เสนอ คาดภายในเดือน ธ.ค. หวัง ไม่ยุบสภาก่อนพิจารณาเสร็จ 

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีพระบรมราชโองการการโปรดเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 ว่า เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว กฎหมายก็จะมีผลใช้บังคับ กระบวนการต่อไปที่สภาฯ ต้องเตรียมรับ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ขณะนี้สิ่งที่สภาฯ เตรียมรับ คือ รัฐบาลกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประสานกัน โดย กกต.จะมีหน้าที่เตรียมกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเพื่อส่งไปยังรัฐบาล และรัฐบาลก็จะเป็นผู้เสนอกฎหมายต่อสภาฯ หรือมิเช่นนั้น ส.ส. ก็จะเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย

ดังนั้น ตนคิดว่าน่าจะเดือนธ.ค.หรือ ม.ค. ที่รัฐบาลจะเสนอกฎหมายเข้ามา ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ส่งสัญญาณอธิบายเรื่องนี้มา 2-3 ครั้งแล้ว โดยฝ่ายสภาฯ ก็หารือกับฝ่ายเลขาสภาฯ ไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้างเพื่อรับกฎหมายที่กกต.และรัฐบาลเสนอเข้ามา ทั้งนี้ กฎหมายให้ใช้บังคับการเลือกตั้งทั่วไป ฉะนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวหากมีการยุบสภาขึ้นมาก็จะมีปัญหาเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจว่ากระบวนการคงไม่ช้า เพราะเท่าที่สอบถามภายในทราบว่า กกต.ได้เตรียมไว้ล่วงหน้าแล้วในเบื้องต้น นับตั้งแต่ที่กฎหมายนี้ผ่านสภาฯ ไป เพียงแค่รัฐบาลจะเสนอเข้ามาเมื่อไหร่ หากเสนอเข้ามาในช่วงเดือน ธ.ค. ก็สามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระในเดือน ธ.ค.ได้เลย

เมื่อถามว่า กระบวนการพิจารณาของสภาใช้เวลานานหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ตนเข้าใจว่ากฎหมายจะไม่ซับซ้อนมาก เพราะแก้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม 

เมื่อถามว่า หากระหว่างนี้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นจริงๆ นายชวน กล่าวว่า มันก็จะมีปัญหา ซึ่งตนพูดไว้เผื่อล่วงหน้า เพียงแต่ก็หวังว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฝ่ายสภาฯ ก็ต้องเตรียมรับกฎหมายที่รัฐบาลจะเสนอมาเป็นหลัก ซึ่งตนได้กำชับไปแล้วว่าเมื่อเสนอเข้ามาก็ให้รีบดูและพิจารณาให้พร้อม และเข้าสภาฯ ในทันที

“ชวน”คาด ปี 65 กม.เข้าสภามากขึ้น แนะ รมต.เข้าสภาฟังอภิปราย – ตอบกระทู้ เชื่อเป็นประโยชน์ปชช. ชี้เรื่องที่กมธ.พิจารณาแล้วไม่ผ่าน เท่ากับไม่มีผลงาน ปัด ประเมินอายุรัฐบาลอยู่ครบเทอมหรือไม่ แต่สภาไม่เป็นอุปสรรคให้ฝ่ายบริหาร

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในปี65 ว่าช่วงที่ผ่านมากฎหมายของฝ่ายบริหารทุกฉบับผ่านไปได้ด้วยดี ในส่วนที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ส่วนใหญ่เป็นญัตติทั่วไปประมาณ 200 ญัตติ และคิดว่าปี 65 จะมีกฎหมายใหม่ๆเข้ามามากขึ้น ส่วนเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว ถือเป็นผลงานของทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล ซึ่งเรื่องเหล่านี้ควรจะผ่านการพิจารณา ถ้าไม่ผ่านเท่ากับผลงานไม่ออกมาเลย 

นายชวน กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่มีปัญหาบ้าง และแนะนำเป็นการภายใน เป็นเรื่องของการตั้งกระทู้ถาม ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีสภาฯก็ไม่มีตัวอย่างในการตั้งกระทู้ ทำให้มีการตั้งกระทู้ลักษณะขัดต่อข้อบังคับ เพราะการตั้งกระทู้ไม่ใช่ลักษณะของการอภิปราย แต่เป็นการตั้งคำถามเพื่อต้องการคำตอบ ที่ผ่านมามีสมาชิกส่วนหนึ่งไม่เข้าใจ แต่การตั้งกระทู้ถามตรวจสอบฝ่ายบริหารในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม เดิมเป็นกระทู้ถามทั่วไป แต่ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ และข้อบังคับ ให้มีกระทู้ถามสดด้วยวาจา

ซึ่งรัฐมนตรีไม่มีโอกาสทราบคำถามล่วงหน้า เพราะเป็นเรื่องด่วน เรื่องที่ประชาชนสนใจ และกระทบผลประโยชน์ของประเทศ และยังมีกระทู้ถามแยกเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะที่ เฉพาะเรื่อง รวมทั้งยังมีกระทู้ทั่วไป ที่เป็นเรื่องในอดีตที่เคยทำมา ซึ่งสมาชิกมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบฝ่ายบริหารด้วยการใช้กระทู้เพิ่มขึ้นใน 2 ระบบ ทั้งนี้ เรื่องกระทู้ต่างๆ ถือเป็นวาระที่รัฐมนตรีจะต้องเตรียมตัว ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติจะทำหน้าที่ตรวจสอบ และสอบถามข้อมูล

ประธานรัฐสภา กล่าวด้วยว่า ในภาวะวิกฤตโควิด – 19 ที่ผ่านมา ส.ส.ถือว่าเป็นส่วนที่ช่วยได้มาก ตนขอชื่นชมทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน จากการลงพื้นที่ด้วยตนเอง จึงได้เห็นการช่วยเหลือจากทั้งส่วนรวม และส่วนตัว จากนั้น ได้นำปัญหาเข้ามาหารือในที่ประชุมสภาฯ ดังนั้นแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤตโควิด – 19 ส.ส.ถือเป็นกลุ่มแรกที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนมาที่ตน ประมาณ 1 พันกว่าเรื่องในรอบปีที่ผ่านมา

ซึ่งสมัยก่อนไม่มีคนร้องทุกข์มากขนาดนี้ แสดงว่าประชาชนหวังให้สภาฯเป็นที่พึ่งในหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มการประชุมในปี 65 จะมีการนัดประชุมชดเชยวันหยุดช่วงปีใหม่ โดยนัดประชุมนัดพิเศษวันที่ 14 ม.ค.และ 28 ม.ค.65 และในวันพุธ พฤหัสบดี ของการประชุมสภาฯ จะเพิ่มเวลาการประชุมขึ้นอีกประมาณ 2 ชม. ซึ่งคาดว่าในปี 65 จะพิจารณาเรื่องที่ค้างอยู่ทั้งหมดให้แล้วเสร็จได้ ขณะที่ การประชุมรัฐสภา มีเรื่องที่ค้างอยู่ 3 เรื่อง โดยจะมีการหารือเพื่อกำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาต่อไป 

เมื่อถามว่า มองว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปี 65 จะเป็นอย่างไร เพราะยังมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นพอสมควร นายชวน กล่าวว่า ในส่วนของสภาฯส่วนตัวคิดว่าความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกันนั้นยังคงมีอยู่ แต่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูการทำงาน เชื่อว่าระบบนี้ยังสามารถเดินไปได้ปกติ ไม่น่าจะมีอะไรเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน การปฏิบัติภารกิจของนักการเมืองก็อยู่ในสายตาของประชาชนมากขึ้น ใครที่สร้างปัญหา ประชาชนจับตาดูอยู่ ซึ่งในสมัยนี้ก็ปฏิเสธยาก เพราะมีการสื่อสารในหลายรูปแบบ แต่ถึงจะมีความขัดแย้งไม่พอใจเรื่องใดก็ตาม ก็ควรต้องอยู่ในกรอบที่สามารถควบคุมได้ 

เมื่อถามว่า ประเมินแล้วรัฐบาลจะสามารถอยู่จนครบวาระหรือไม่ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ส่วนตัวไม่สามารถประเมินฝ่ายบริหารได้ แต่ในส่วนของสภาฯคิดว่าไม่น่าจะเป็นอุปสรรคในการทำงานของฝ่ายบริหาร และฝ่ายอื่น ๆ และเชื่อว่าในระบบนี้ เราสามารถที่จะผ่านการปฏิบัติภารกิจของแต่ละฝ่ายไปได้ด้วยดี ตนได้ย้ำเตือนทุกครั้ง เมื่อพบฝ่ายบริหารก็ได้ย้ำว่าถึงอย่างไรก็ต้องมาตอบกระทู้ของสภาฯ และเมื่อมีการเสนอญัตติในสภาฯ ฝ่ายรัฐบาลต้องมาชี้แจงต่อสภาฯ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ และโอกาสที่จะได้ชี้แจงข้อมูลความจริงที่มีการตั้งประเด็น หากฝ่ายบริหารไม่ตอบสภาฯ ประชาชนก็ไม่รู้ข้อมูล “อย่างน้อยรัฐมนตรีควรเข้ามานั่งฟัง จะได้รู้ว่าเขากล่าวหาอย่างไร และใช้สิทธิชี้แจงว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่จริง” นายชวน กล่าว

“ชวน” เตือน กมธ.ตั้งคนนอกเป็นที่ปรึกษาระวังให้ดี มีเรื่องร้องเรียนพบพฤติกรรมไม่สุจริต เรียกรับผลประโยชน์

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง (ฉบับที่….) พ.ศ…. ติดโควิดหลายคน มีการส่งสัญญาณว่าจะพิจารณาไม่ทันมาหรือไม่หรือมีกมธ.ชุดอื่นมีปัญหาหรือไม่ ว่า กมธ.ขอมาประจำเรื่องการขอขยายเวลา ซึ่งมีหลายคณะ แต่ส่วนใหญ่กมธ.ก็ไม่ได้ประชุมกัน มีเพียงบางคณะที่มีข้อกำหนดเวลาเร่งรัดอยู่ แต่ก็ต้องเตือนกันในส่วนของคนนอกเพราะตัวส.ส.เองไม่น่าเป็นห่วง โดยตนได้ทำจดหมายถึงนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ประธานกมธ.กิจการสภา เรื่องพฤติกรรมของคนนอกที่กมธ.นำมาเป็นที่ปรึกษา มีการร้องเรียนมาเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์จึงขอให้นายอนันต์แจ้งกมธ.ทุกคณะให้ระมัดระวังกรณีตั้งที่ปรึกษาหรือคนนอกให้มาทำงานด้วย และมีพฤติกรรมที่ไม่สุจริตทำให้ภาพของกมธ.นั้นเสียหาย ซึ่งตนยังไม่กล้าเอ่ยชื่อแต่มีคนรายงานมา เป็นการเรียกร้องรับผลประโยชน์โดยทั่วไป จึงให้แจ้งกมธ.นั้นติดตามดูด้วย 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top